8 พรรณไม้หมายทาง คืนอดีตให้ชุมชนเชียงใหม่

สภาพเมืองเชียงใหม่ที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาตินั้นได้ลางเลือนไปตามวันเวลาที่ผันผ่าน จนทุกวันนี้มีสภาพของป่าคอนกรีตให้เห็นเด่นชัด แล้วพื้นที่สีเขียวก็ถูกแทนที่ด้วยตึกรามบ้านช่องอย่างรวดเร็ว จริงอยู่การขยายตัวของชุมชนเป็นเรื่องที่จำเป็น ถึงอย่างนั้นอย่างน้อยที่สุดความสำคัญของต้นไม้รายทางก็ไม่ควรถูกมองข้าม

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ดำเนินโครงการ “ไม้หมายทาง 80 พรรษา 8 พันธุ์ไม้” ซึ่งเป็นการปลูกต้นไม้ในบริเวณเส้นทางสายใหม่เพื่อเป็นการฉลองปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา โครงการนี้มีแนวคติดที่จะปลูกต้นไม้ตามรายทางเพื่อสะท้อนถึงเรื่องราวความเป็นมาในการสร้างชุมชนและความเป็นเมืองเชียงใหม่ หรือที่เรียกว่าปลูกไม้ตาม “ภูมินาม”

ไม้หมายทาง: เรื่องราวของวันวานที่จะดำรงอยู่ในวันพรุ่งนี้

อาจารย์สมพร ยกตรี หนึ่งในปูชนียบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “เก๊าไม้ล้านนา” ซึ่งเป็นภาษาเหนือที่ใช้เรียกยกย่องผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านพรรณไม้ในภูมิภาคล้านนา ได้บอกเล่าถึงความสำคัญของภูมินาม ซึ่งหมายถึง นามมของสถานที่อันเกี่ยวข้องกับภูมิประเทศในที่นั้นๆ ซึ่งสัมพันธ์กับชุมชนวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเป็นการสร้างเอกลักษณ์และจุดหมายตาที่ชัดเจนด้วยการใช้พืชพรรณหรือต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้แต่ไกลเพื่อป้องกันไม่ให้หลงทาง

ส่วนที่สำคัญของการปลูกไม้ตามภูมินามคือเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้พื้นที่ และบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่ให้แก่ผู้พบเห็นได้ทราบถึงประวัติ เบื้องหลังของแต่ละพื้นที่ เช่น บ้านป่าลานแสดงให้เห็นว่าในอดีตเคยมีดงต้นลาน บ้านหนองไคร้ แสดงว่าเคยอุดมไปด้วยต้นไคร้น้ำ ภูมินามนั้นช่วยให้เข้าใจว่าตั้งแต่อดีตนั้นชุมชนแต่ละแห่งมีพืชพรรณไม้ท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับความเป็นชุมชนอย่างไร

อาจารย์สมพร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ไม้หมายเมือง ไม้หมายถิ่น หรือไม้หมายทางนั้นก็คือพันธ์ไม้ท้องถิ่นที่เคยพบเห็นในอดีตจนได้รับการขนามนามเป็นชื่อตามแหล่งพันธุ์ไม้นั้นๆ หรือมีการปลูกเพื่อช่วยให้เกิดการจดจำแหล่งสถานที่นั้นๆ ได้ และเพื่อให้เกิดความสวยงามที่เอื้อต่อภูมิประเทศข้างทาง”

ขณะนี้ทางโครงการฯ กำลังดำเนินการรวบรวมพันธุ์ไม้เพื่อนำมาอนุบาลให้ต้นสมบูรณ์พร้อมสำหรับการระดมกำลังปลูก ในบริเวณเส้นทางที่มีชื่อบ้านเป็นพันธุ์ไม้ใด ก็จะใช้พันธุ์ไม้ดังกล่าวปลูกให้พ้องกับภูมินามนั้นๆ อาทิ บริเวณบ้านสันคะยอมก็จะมีการปลูกต้นพะยอมให้สอดคล้องกัน หรืออย่างบริเวณสี่แยกดอนแก้วที่ได้ดำเนินการไปแล้วซึ่งได้มีการปลูกต้นแก้ว และต้นพิกุลซึ่งภาคเหนือเรียกว่าต้นแก้ว นอกจากนี้ยังได้มีการปลูกต้นราชพฤกษ์เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ไม้ที่จะปลูกจะต้องเป็นไม้ยืนต้น ด้วยเพราะทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสามารถให้ร่มเงาได้

นอกจากเรื่องพรรณไม้แล้วยังต้องคำนึงถึงเรื่องทิศทางซึ่งสัมพันธ์กับสภาพถนนและแสงแดดที่ส่องเพื่อให้ร่มเงา เมื่อต้นโตถึงระยะออกดอกแล้วจะให้ภาพไหล่ทางถนนที่ร่มรื่นและสวยงามเช่นเดียวกับเส้นทางหลวง 1001 ซึ่งสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นอินทนิล

8 พรรณไม้ ขยายปอด

ในวันนี้ที่เคยรับรู้กันว่า “เชียงใหม่เป็นเมืองอากาศดี” นั้นอาจเป็นจริงได้แค่เพียงในอดีตเท่านั้น สภาพอากาศที่เป็นปัญหาในปัจจุบันประกอบกับภาวะโลกร้อนที่กำลังประสบอยู่นั้นทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นมาตรการเร่งด่วนที่ไม่สามารถละเลยได้ดังเช่นที่ผ่านมา คำตอบสำหรับสองปัญหาดังกล่าวนั้นมีคำตอบหนึ่งที่ตรงกันก็คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

โครงการ 80 พรรษา 8 พรรณไม้หมายทาง เกิดขึ้นจากความคิดของกลุ่มวุฒิอาสาธนาคารสมองซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มอาวุโส ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณจากราชการ เพื่อมาทำประโยชน์ให้กับเมืองเชียงใหม่ โดยทางกลุ่มได้เสนอให้มีการปลูกต้นไม้ตามสองข้างทาง ก็เพราะหวังว่าจะช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องสภาพอากาศในเมืองเชียงใหม่

ผศ.ศิริชัย หงส์วิทยากร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม ในฐานะแกนนำโครงการ กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงกานำร่องโดยคาดว่าทางจังหวัดเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ อาจำไปเป็นต้นแบบเพื่อร่วมอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่นและเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมแบบชุมชนมีส่วนร่วม สำหรับคำว่า 8 พรรณไม้ในที่นี้เป็นเป้าหมายเริ่มต้นในการรวมรวมพันธุ์ไม้ อาทิ พะยอม ไคร้น้ำ ข่อย พิกุล แก้ว ราชพฤกษ์ ทองกวาว และสีเสื้อ ซึ่งหากได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เราอาจจะสามารถรวมรวมพันธุ์ไม้หายากได้มากขึ้น”

ผศ.ศิริชัย เล่าว่า ขณะนี้ทางสหประชาชาติได้ประกาศว่ามีเป้าหมายที่จะให้มีการปลูกต้นอไม้ให้ถึงหนึ่งพันล้านต้นทั่วโลก จึงอยากให้ชาวเชียงใหม่ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลกทั้งยังเป็นการถวายแด่พ่อหลวงของเรา

เริ่มต้นด้วยพื้นที่เส้นทางหลวงชนบท 121 เริ่มจากสี่แยก สันคะยอม-แยกหนองไคร้หลวง-แยกดอนแก้ว-ริมคลองชลประทานรวมระยะทาง 10 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ของเทศบาลตำบลสันทรายหลวง องค์การบริหารส่วนตำบล(ดอนแก้ว หนองจ๊อม สันผีเสื้อ) องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2 กรมทางหลวง และทางหลวงชนบทเชียงใหม่ ไม้หมายเมืองที่ได้เริ่มปลูกไปได้แก่ พิกุล แก้ว ราชพฤกษ์

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับหลายๆ หน่วยงาน อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ศูนย์เพาะชำกล้าไม้แม่ออน เทศบาลตำบลแม่โจ้และสันทรายหลวง อบต.ดอนแก้ว ไร่แม่ฟ้าหลวง อบจ.เชียงใหม่ วุฒิอาสาธนาคารสมอง และแขวงการทางเชียงใหม่ ร่วมระดมความคิดและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางและผังเมือง เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกในครั้งนี้สามารถเติบโตเนื่องในระยะยาวโดยไม่ถูกถนนคอนกรีตและเสาไฟฟ้ารุกรานอย่างเช่นที่ผ่านมา

แน่ชัดว่าวันพรุ่งนี้ของเมืองเชียงใหม่จะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับการ “สร้าง” เมืองเชียงใหม่ในวันนี้ และแน่นอนว่าหน้าที่ดังกล่าวย่อมตกอยู่กับชาวเชียงใหม่ โครงการขยายปอดในครั้งนี้จะสำเร็จได้นั้นจำเป็นที่จะต้องขยายผลต่อไปด้วยการมีส่วนร่วมของชาวเชียงใหม่อย่างจริงจัง ทั้งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถนำเชียงใหม่ในอดีตกลับคืนมาได้ในที่สุด

ตัวอย่างการสำรวจชื่อหมู่บ้านที่สัมพันธ์กับไม้หมายเมือง

ตำบลแม่แรม

บ้านป่าม่วง = ต้นมะม่วงป่า

บ้านปางป่าคา(ปางอีกา) = ต้นหญ้าคา

ตำบลโป่งแยง

บ้านปงไคร้ = ต้นไคร้น้ำ

บ้านปางลุง(บวกเต๋ย) = ต้นเตยเขา

ตำบลดอนแก้ว

บ้านสบสา = ต้นปอสา

บ้านป่าแงะ = ต้นเต็ง

บ้านป่ารวก = ต้นไผ่ป่า

บ้านนาหึก = ต้นยางอินเดียบ้าน

ห้วยส้มสุก = ต้นโสก

ตำบลริมใต้

บ้านขอนตาล(สบริม) = ต้นตาล

บ้านต้นแก้ว(ต้นตื่น) = ต้นพิกุลหรือภาคเหนือเรียกต้นแก้ว

บ้านทุ่งหัวช้าง = ต้นหัวช้าง

ตำบลริมเหนือ

บ้านหนองผ่า (ท้องฝาย) = ต้นไข่น้ำหรือขำ

ตำบลสันโป่ง

บ้านป่าติ้ว(ชลประทาน) = ต้นติ้วหม่อนหรือติ้วเกลี้ยง

ตำบลแม่สา

บ้านท่าไคร้ = ต้นไคร้น้ำ

ตำบลขี้เหล็ก

บ้านขี้เหล็กน้อย = ต้นขี้เหล็ก

บ้านสันคะยอม = ต้นพะยอม

บ้านชาง = ต้นชาง

บ้านต้นขาม = ต้นมะขาม

บ้านขี้เหล็กหลวง = ต้นขี้เหล็กหลวง

ตำบลเหมืองแก้ว

บ้านต้นผึ้ง(สันใต้) = ต้นสมพง

บ้านสันเหนือ = ต้นไผ่บง

รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์ รายงาน

หนังสือพิมพ์ฟิวเจอร์ไทยนิวส์

ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 ประจำวันที่ 16-31 สิงหาคม 2550

ใส่ความเห็น